ขับเคลื่อนโดย Blogger.
Tag: , , ,

ความประเสริฐของอัลกุรอ่าน

ความประเสริฐของอัลกุรอ่าน

 

 
 

อัลกุรอ่าน คือคัมภีร์ที่พระเจ้าประทานมาสู่มนุษย์เพื่อเป็นหลักศรัทธา และหลักปฎิบัติในการนับถือศาสนาอิสลามโดยผ่านท่านศาสดามูฮัมหมัดทรงเป็นศาสนทูต

เพื่อรำลึกถึงความสูงส่งของพระดำรัสของอัลลอฮฺ ซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ เป็นอายะฮฺที่เริ่มต้นด้วยการยืนยันจากอัลลอฮฺ ว่าอัลกุรอาน เป็นทางนำและทางแก้ไขอันดีเลิศในทุกกรณีและสถานการณ์ และอัลกุรอานเป็นข่าวที่ดีสำหรับผู้ศรัทธาที่กระทำความดี 
 
ความสำคัญ และสถานภาพของบุคคลที่เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความ สำคัญของวิชานั้นในสังคม เช่นนักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ แต่เหตุใดผู้ที่มีความใกล้ชิดเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอัลกุรอานที่เป็นกฎหมายของอิสลามจึงไม่ถูกยกย่องเป็นนักกุรอาน (นักวิชาการเรียกบุคคลกลุ่มนี้ว่า ชาวกุรอาน-อะลุ้ลกุรอาน) 
จากหะดีษท่านบีมุฮัมมัด กล่าวว่า
 
ในวันอาคีเราะฮฺอัลกุรอานจะถูกนำมาพร้อมนักกุรอาน ซึ่งต้องเป็นคนที่อ่าน เข้าใจ ศึกษา ท่องจำ และปฏิบัติ และนำกุรอานมาใช้ในชีวิตประจำวัน

 พี่น้องลองย้อนกลับมาสำรวจตัวเอง ท่านนบีได้ตั้งไว้ซึ่งคุณสมบัติของนักกุรอานคือผู้ปฏิบัติดีด้วยอัลกุรอานในโลกดุนยานี้ คนเดี๋ยวนี้ดูถูกอัลกุรอานสนใจในวิชาความรู้สามัญจนคิดว่าจำแค่ 3 กุ้ลก็รอดแล้ว
ในบทบัญญัติกฎหมาย มนุษย์จะไม่คุ้มครองคนไม่รู้ เนื่องจากถือว่าทุกคนมี หน้าที่ศึกษาและปฏิบัติตามกฎหมาย แต่อัลกุรอานมีความชัดเจนในเรื่องนี้หากไม่รู้อัลลอฮฺ ไม่เอาโทษ
ท่านนบี กล่าวว่า เป็นการให้อภัยแก่ประชาชาติของท่านแล้วซึ่งการผิดพลาด คือการไม่รู้ การหลงลืม หรือการถูกบังคับ

นี่คือสามประการที่ไม่มีเจตนารมณ์ในการกระทำผิด แม้การทำชีริก โดยไม่รู้ อัลลอฮฺก็ไม่เอาโทษ เช่นชาว อะลุลฟัตเราะฮฺ คือผู้มีชีวิตระหว่างสองนบี เช่น ผู้ที่เกิดระหว่างยุคของนบีอีซา และนบีมุฮัมมัด หากเขาตายในสภาพผู้ที่บูชาเจว็ดก็ถือเป็นมุชริก แต่ถ้าเขาคือผู้ที่ไม่รู้จักศาสนาของอัลลอฮฺ ในอาคีเราะฮ อัลลอฮฺ จะทดสอบเขาโดยให้เข้านรกถ้าเชื่อฟังก็ถือว่าศรัทธา ถ้าฝ่าฝืนก็ไม่ศรัทธา ก็ตอนนั้นรู้แล้วว่ามีทั้งปรโลก ทั้งอัลลอฮฺ  แล้ว นับประสาอะไรกับโลกนี้ที่ไม่เห็นอะไรเลยก็ยิ่งฝ่าฝืน นี่คือกฎหมายอิสลาม เห็นได้ชัดว่ากฎหมายของอัลลอฮฺ นั้นยุติธรรมที่สุดแล้ว เพราะถ้าท่านไม่รู้อัลลอฮฺ ไม่เอาโทษ 
เป็นที่เอกฉันท์แล้ว ท่านไม่วาญิบท่องจำอัลกุรอาน แต่มีคำเรียกร้องให้ท่านเป็นนักกุรอาน เป็นผู้เชี่ยวชาญอัลกุรอาน มีบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม ท่านนบีกล่าวไว้ว่า 
"แท้จริงอัลลอฮฺ ได้ยกระดับกลุ่มชนหนึ่งด้วยคัมภีร์นี้ และลดระดับกลุ่มชนหนึ่งด้วยคัมภีร์ คนที่จะสูงส่งด้วยอัลกุรอานก็ด้วยการปฏิบัติตามอัลกุรอาน"
 หะดีษบันทึกโดยอัลบุคอรียฺ รายงานจากท่านอุสมาน อิบนุอัฟฟาน
ท่านนบี กล่าวว่า "คนที่ประเสริฐยิ่งในหมู่พวกท่านคือคนที่เรียนรู้ และสอนอัลกุรอาน"
ซึ่งการจะเป็นคนที่ประเสิรฐยิ่งในโลกนี้และโลกหน้าก็ต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้และปฏิบัติตามอัลกุรอาน
การเรียนนี้มีหลายระดับ ขั้นแรกก็คือ การเรียนการอ่านอัลกุรอาน ต้องพยายาม ซึ่งความพยายามอันนี้แหละที่จะเป็นผลบุญและบรรลุความประเสริฐ เทียบหากว่ามีผู้มอบทุนเรียนจบ ป.เอก และให้งานทำที่อเมริกา ย่อมไม่มีใครจะปฏิเสธลง แต่นี่อัลลอฮฺ บอกว่าเรียนอัลกุรอานได้สวรรค์ หะดีษ บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีและมุสลิม รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ
ท่านนบี กล่าวว่า
บรรดาผู้ที่อ่านอัลกุรอานด้วยความเชี่ยวชาญ (ที่เราเรียกกันว่า นักกอรี ที่มาจาก กอ-รอ-อาที่แปลว่าอ่าน) ซึ่งที่มากุรอานนั้นมาจาก กอรออฺที่แปลว่ารวบรวม เพราะเป็นการรวบรวมพระดำรัสของอัลลอฮฺ แต่บางทรรศนะว่ามาจาก กอรออาที่แปลว่าที่ถูกอ่าน เพราะถูกประทานให้อ่านไม่ใช่ให้เก็บ
ในสมัยนี้กอรี หมายถึงผู้ที่อ่านเก่ง แต่ในสมัยนบีคืออาลิม
หะดีษบันทึกโดยอิหม่ามบุคอรี คนที่ควรเป็นอิหม่ามคือคนที่อ่านอัลกุรอานมาก เพราะกระบวนการเรียนในสมัยนั้นจะไปเรียนกับท่านนบี ทีละสิบอายะฮฺจนสะสมความศรัทธาแล้วจึงย้ายไปอีกสิบอายะฮฺ ซึ่งแตกต่างกับปัจจุบันค่อนข้างมากที่นักกอรีคือผู้เป็นนักอ่านอัลกุรอานแบบ ละฆู (ทำนอง เป็นรากศัพท์จากภาษามลายูแปลว่าเพลง ดนตรี ไร้สาระ ซึ่งผู้เรียนจะต้องเรียนทำนองดนตรีอาหรับจริงๆ) และแน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาประสบความสำเร็จ คือ ผู้ที่ละหมาดด้วยความนอบน้อม และบรรดาผู้ที่ละทิ้งสิ่งที่ละฆู (ไร้สาระ) จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่จะนำคำว่าทำนองดนตรีมาใช้กับอัลกุรอาน กอรปกับชาวมลายูและไทยที่ไม่สันทัดกับภาษาจึงไม่ขัดข้องที่จะใช้คำว่า ละฆู เพราะเป็นการอ่านโดยไม่ต้องปฏิบัติ
 ดังนั้นถ้าสังคมไม่มีนักกอรี สังคมไม่หายนะ แต่ถ้าสังคมขาดนักความหมายอัลกุรอานสังคมต้องหายนะ แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่ นักอัลกุรอานกลับถูกประหารชีวิตในโลกมุสลิม เช่น เชคซัยยิด กุฏูบ นักอธิบายอัลกุรอาน ในประเทศอียิปต์ แต่นักกอรีไปอ่านอีซีกุโบเป็นดารามีคนตามไปฟังเป็นพัน แต่ที่ตามไปฟังนั้นเค้ารำลึกเนื้อหาเพื่อการปฏิบัติหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องตระหนัก นั้นแสดงถึงคุณค่าของอัลกุรอานในสังคมของเรา
กลับมาที่หะดีษแรก ที่อัลกุรอานจะถูกนำมาพร้อมกับชาวอัลกุรอาน โดยมีซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ กับ ซูเราะฮฺอาลิอิมรอน นำหน้ามา มีหะดีษว่าสองซูเราะฮฺ จะมาเป็นเมฆสองปุยสองก้อน (มีหลายทรรศนะตีความว่ามาเป็นแบบจริงหรือไม่) เพราะสองซูเราะฮฺนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับกฎหมาย
จนเศาะฮาบะฮฺกล่าวว่า ใครที่ศึกษาเรียนรู้ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺจนเชี่ยวชาญในหมู่พวกเราถึงว่า เป็นอาลิม
ท่านนบี บอกว่าสองซูเราะฮฺ นี้จะมาโต้เถียงแทนเจ้าของ สองซูเราะฮฺนี้คือผู้ท่องจำ ชำนาญจนปฏิบัติตามสองซูเราะฮฺนี้ บันทึกโดยอิหม่ามมุสลิม
ท่านนบี กล่าวว่า พวกท่านทั้งหลายจงอ่านอัลกุรอานเถิด เพราะมันจะเป็นทนายให้แก่ท่าน
การอ่านในที่นี้ไม่ใช่แค่ท่องจำเท่านั้น มิฉะนั้นนักกอรีทั้งหลายก็เป็นชาวสวรรค์กันหมด

หะดีษบันทึกโดยตีรมีซี รายงานว่าท่านนบี กล่าวว่า ผู้ที่ไม่มีในหัวใจซึ่งอัลกุรอานเปรียบเสมือนบ้านพัง บ้านรก ไม่มีสัมภาระ ไม่มีใครอยากอยู่มีแต่หยากไย่ ในหัวใจก็จะพบแต่เพียงสิ่งไร้สาระทั้งหลาย
 มีรายงานจากอาบูมูซา อัลอัชอะรี ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
 กล่าวความว่า "อุปมามุอฺมินที่อ่านอัลกุรอานอุปไมดังผลอัลอุตรุจญะฮฺ รสชาติของมันดี (อร่อย) และกลิ่นของมันดี (หอม)"

บันทึกโดยอัลบุคอรียฺและมุสลิม
มีความขัดแย้งว่าคืออะไร บางคนบอกว่าต้นไม้ ท่านนบีบอกว่า อุตรุจญะฮฺ คือ ผลไม้ที่มีกลิ่นหอม รสชาติดี มุอฺมินที่อ่านอัลกุรอานจะมีกลิ่นหอม รสชาติดี อัลกุรอานเป็นสัญลักษณ์

อุปมามุอฺมินที่ไม่อ่านอัลกุรอาน เปรียบดังอิทผาลัมที่มีรสชาติดีแต่ไม่มีกลิ่น เมื่อไม่มีกลิ่น เมื่อไม่มีอัลกุรอานจึงเป็นมุอฺมินที่ขาดสัญลักษณ์ ที่จะปรากฏในรูปร่าง ใบหน้า การกระทำ ในถ้อยคำ ปรากฏหมดในชีวิต คนที่ใกล้ชิดอัลกุรอาน จะหอมมากแต่จะหอมเฉพาะคนที่มีความสามารถเท่านั้น เช่น บางคนได้กลิ่นเหล้าแล้วเหม็น ขณะที่บางคนจะหอม หรือคนที่มีไข้เป็นหวัด กินอาหารแล้วไม่มีรสชาดหรือผิดเพี้ยนไป
ดังนั้นคนที่เห็นอะไรดี ๆ แล้วว่าไม่ดีก็ผิดปกติ คนที่จะรู้ว่าอัลกุรอานหอมก็คือคนที่รู้คุณค่าของอัลกุรอาน ไม่ใช่เอาคนที่ทิ้งอัลกุรอ่านหรือสาปแช่งอัลกุรอานมาดม มุอฺมินถึงไม่อ่านอัลกุรอานก็ยังมีคุณค่าอยู่ดี ดังอิทผาลัมที่ยังไงก็มีคุณค่า แม้คนที่เป็นเบาหวานกินอินทผาลัมก็ไม่มีปัญหา
ส่วนอุปมามุนาฟิก ที่อ่านกุรอาน อุปมัยใบโหระพาที่ขม แต่กลิ่นนั้นหอม อุปมามุนาฟิกที่ไม่อ่านอัลกุรอาน อุปมัยอัลฮัมบาละฮฺ ที่ไม่มีกลิ่นและรสชาติขม
 
ลักษณะหรือสัญลักษณ์ในทุกคนที่นบี ได้อุปมาไว้นี้ คนที่อ่านอัลกุรอาน จะได้มาซึ่งกลิ่นหอมที่เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง นี่เป็นคุณค่าของการอ่านกุรอานที่ได้รับการยกย่อง แม้อ่านโดยไม่ศรัทธาและปฏิเสธด้วยซ้ำ แสดงว่ากลิ่นหอมเป็นสิ่งที่หลอกกันได้ แต่รสชาดเป็นของจริง ถ้าเราเป็นมุอฺมินแต่ไม่อ่านอัลกุรอาน ก็ยังมีรสชาติดีแต่ถ้าเราไม่ยอมรับแล้วเหลืออะไร ก็ไม่ต่างจากมุนาฟิกที่ทั้งไม่หอมและขม ใช้ไม่ได้ นี่คือคุณค่าของอัลกุรอานสำหรับคนที่อยากจะถูกนำมาในอาคีเราะฮฺด้วยความสูงส่ง
 
สุดท้าย ท่านนบี สอนเพื่อเราจะได้รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร จากบันทึกของอบูดาวูด และตีรมิซียฺ บันทึกโดยอิหม่ามอะหมัด ด้วย รายงานจากฮับริลละห อิบนี อัมรี บิน เอาศ
ท่านนบี กล่าวว่า ในวันกียามะฮฺได้ถูกกล่าวให้แก่เจ้าของกุรอาน อิกเราะอฺ จงอ่าน จงสูงขึ้น จงอ่านตามที่ท่านเคยอ่านในโลกดุนยานี้ แท้จริงตำแหน่งสูงสุดของท่านอยู่ที่อายะฮฺสุดท้ายที่ท่านสามารถอ่านจบได้
ถือว่าอัลกุรอานเป็นธรรมนูญ ที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จในทุกประเด็น แก้ไขทุกปัญหา กุรอานจำเป็นต้องมีพื้นที่ในชีวิตของเรามากกว่าอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นสิ่งไร้สาระ หรือวิชาความรู้ทั่วไป มากกว่าลูก มากกว่าครอบครัว
 
 
 จากการบรรยาย : เชคริฎอ อะหมัด สมะดี


สุดท้ายขอดุอาให้ทุกท่านได้รับแนวทางที่เที่ยงตรงกันจนถึงวาระอันควร..ตามที่พระองค์ทรงกำหนด
 

 กลับสู่  >>  คำสอนอิสลาม

เกี่ยวกับด้วยรักและศรัทธา

แนะนำบทความ แนวความรู้อัลอิสลามเพื่อทุกท่าน ..เข้าใจ ..รัก และศรัทธา

 

Ads